วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

วันสงกรานต์



วันสงกรานต์ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนกระทั่งมาเปลี่ยนแปลงให้เป็นวันที่ 1 มกราคม ตามหลักสากลของนานาประเทศเมื่อปี พ.ศ.2483 แต่แม้จะกำหนดวันขึ้นปีใหม่ให้ตรงตามหลักสากลแล้ว สำหรับคนไทยเองก็ยังยึดเอาวันสงกรานต์เป็นวันที่มีความสำคัญอยู่ จริง ๆ แล้ว สงกรานต์ ไม่ได้เป็นเพียงประเพณีปีใหม่ที่เก่าแก่ของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศพม่า ลาว กัมพูชา รวมไปถึงชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนาม และมณฑลยูนนานของจีน รวมทั้งที่ประเทศศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดียอีกด้วย โดยคำเต็ม ๆ ของ "วันสงกรานต์" ต้องเรียกว่า "ตรุษสงกรานต์" แต่คนทั่วไปนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า "สงกรานต์" เท่านั้น ทั้งนี้ คำว่า "ตรุษ" เป็นภาษาทมิฬ แปลว่า ตัด หรือ ขาด หมายถึง ตัดปี ขาดปี หรือสิ้นปี เพราะฉะนั้น "ตรุษ" จึงมีความหมายถึงการแสดงความยินดีที่ปีเก่าผ่านไป และมีชีวิตอยู่รอดมาตลอดปีนั่นเอง ซึ่งคนไทยในสมัยก่อนจะถือเอาเดือนเมษายนเป็นวันสิ้นปี และวันปีใหม่ จึงมีพิธีทำบุญวันตรุษ 3 วัน คือ วันแรม 14 ค่ำ เดือน 4 , วันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 และวันขึ้น 1 ค่ำ ของเดือน 5




ส่วนคำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การก้าวขึ้น ย้ายขึ้น เคลื่อนย้าย ในที่นี้หมายถึงการเคลื่อนที่ของพระอาทิตย์จากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งจะตรงกับวันที่ 13 14 15 เมษายน โดย วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" หรือ "วันสังขารล่อง" ถือเป็นวันสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "วันเนา" หรือ "วันเน่า" ซึ่งแปลว่า "อยู่" หมายถึงอีก 1 วันถัดจากวันมหาสงกรานต์ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้ามาอยู่ในราศีใหม่เรียบร้อยแล้ว วันที่ 15 เมษายน เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราช เรียกว่า "วันเถลิงศก" หรือ "วันพญาวัน" ซึ่งเป็นวันสำคัญวันแรกของปีใหม่นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ในสมัยก่อนไม่ได้กำหนดให้วันที่ 13-15 เป็นวันสงกรานต์ดังเช่นปัจจุบัน แต่ต้องใช้การคำนวณตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งอาจจะตรงกับวันที่ 14-16 เมษายนในบางปี แต่ปัจจุบันนี้ได้กำหนดในวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปีเป็นวันสงกรานต์ และวันหยุดราชการ เพื่อให้ง่ายต่อการกำหนดวันประกอบพิธี สำหรับวันสงกรานต์นั้น ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เป็นวันที่ลูกหลานจะกลับมาสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ และแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว จึงถือเอาวันสงกรานต์เป็น "วันครอบครัว" อีกหนึ่งวันด้วย เพราะเรามักจะเห็นภาพของคนในเมืองใหญ่ ๆ ต่างพากันเดินทางกลับบ้านไปหาครอบครัวในต่างจังหวัด ทำให้การจราจรติดขัดหนาแน่น และยังมีข่าวการเกิดอุบัติเหตุมากมายในเทศกาลนี้

ขณะที่ "น้ำ" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงความชุ่มชื่นในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันด้วยสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เรามักจะเห็นภาพวัยรุ่นลงมาเล่นน้ำ สาดน้ำใส่กัน ประกอบกับยังมีการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น "Water Festival" ทำให้คนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า "น้ำ" เป็นเพียงประเพณีเล่นน้ำที่มีเพียงแค่ความสนุก และดับร้อนในเดือนเมษายนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้คนรุ่นใหม่หลาย ๆ คน จึงไม่เข้าใจความหมาย และรากเหง้าของประเพณีสงกรานต์อย่างแท้จริง ซึ่งเราควรช่วยกันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่า เทศกาลสงกรานต์ เป็นประเพณีที่มีคุณค่าอย่างมาก เพราะเป็นวันที่แสดงถึงความรัก ความสามัคคี ความกตัญญู ฯลฯ มิใช่เพียงเพื่อความสนุกสนานแต่เพียงเท่านั้น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น