วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

ตำนานนางสงกรานต์

ตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีเศรษฐีคนหนึ่งรวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปีก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐีจึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนาม "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า "ธรรมบาลกุมาร" และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย
ต่อมาเมื่อ ธรรมบาลกุมาร โตขึ้นก็ได้เรียนรู้ซึ่งภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับ ธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้า ธรรมบาลกุมาร ตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะ ธรรมบาลกุมาร เสีย ท้าวกบิลพรหม ถาม ธรรมบาลกุมาร ว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน ทันใดนั้น ธรรมบาลกุมาร จึงขอผัดผ่อนกับ ท้าวกบิลพรหม เป็นเวลา 7 วัน โดย ธรรมบาลกุมาร พยายามคิดค้นหาคำตอบ ล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมาร ก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล เขาคิดว่าขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญา ท้าวกบิลพรหม
บังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัว ผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่าพรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่าเราจะไปกินศพ ธรรมบาลกุมาร ซึ่ง ท้าวกบิลพรหม จะฆ่าเสียด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่าคำถามที่ ท้าวกบิลพรหม ถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้าศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยงศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็นศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลกุมาร ก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้ ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหม ก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมาร จึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับ ท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหม จึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ด อันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุม พร้อมกัน แล้วบอกว่าเราจะตัดเศียรบูชา ธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดินไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับแล้วก็ตัดเศียรให้ นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต จากนั้น นางทุงษะ ก็อัญเชิญพระเศียร ท้าวกบิลพรหม เวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ จากนั้นมาทุก ๆ 1 ปี ธิดาของ ท้าวกบิลพรหม ทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียร ท้าวกบิลพรหม แห่ไปรอบ เขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม โดยที่เทพธิดาทั้งเจ็ดนี้ปรากฏในวันมหาสงกรานต์เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า "นางสงกรานต์" ส่วน ท้าวกบิลพรหม นั้น นัยก็คือ พระอาทิตย์ เพราะกบิล หมายถึง สีแดง
ทั้งนี้ ในแต่ละปี นางสงกรานต์ แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ และจะมีนาม อาหาร อาวุธ สัตว์ที่เป็นพาหนะ ต่าง ๆ กัน ดังนี้…

ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี

ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา

ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี

ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันพุธ ชื่อ นางมันทะ

ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันพฤหัส ชื่อ นางัญญาเทพ

ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันศุกร์ ชื่อ นางริญโท

ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทรายพระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี

ที่มา:http://songkran.kapook.com/

วันสงกรานต์



วันสงกรานต์ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนกระทั่งมาเปลี่ยนแปลงให้เป็นวันที่ 1 มกราคม ตามหลักสากลของนานาประเทศเมื่อปี พ.ศ.2483 แต่แม้จะกำหนดวันขึ้นปีใหม่ให้ตรงตามหลักสากลแล้ว สำหรับคนไทยเองก็ยังยึดเอาวันสงกรานต์เป็นวันที่มีความสำคัญอยู่ จริง ๆ แล้ว สงกรานต์ ไม่ได้เป็นเพียงประเพณีปีใหม่ที่เก่าแก่ของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศพม่า ลาว กัมพูชา รวมไปถึงชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนาม และมณฑลยูนนานของจีน รวมทั้งที่ประเทศศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดียอีกด้วย โดยคำเต็ม ๆ ของ "วันสงกรานต์" ต้องเรียกว่า "ตรุษสงกรานต์" แต่คนทั่วไปนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า "สงกรานต์" เท่านั้น ทั้งนี้ คำว่า "ตรุษ" เป็นภาษาทมิฬ แปลว่า ตัด หรือ ขาด หมายถึง ตัดปี ขาดปี หรือสิ้นปี เพราะฉะนั้น "ตรุษ" จึงมีความหมายถึงการแสดงความยินดีที่ปีเก่าผ่านไป และมีชีวิตอยู่รอดมาตลอดปีนั่นเอง ซึ่งคนไทยในสมัยก่อนจะถือเอาเดือนเมษายนเป็นวันสิ้นปี และวันปีใหม่ จึงมีพิธีทำบุญวันตรุษ 3 วัน คือ วันแรม 14 ค่ำ เดือน 4 , วันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 และวันขึ้น 1 ค่ำ ของเดือน 5




ส่วนคำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การก้าวขึ้น ย้ายขึ้น เคลื่อนย้าย ในที่นี้หมายถึงการเคลื่อนที่ของพระอาทิตย์จากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งจะตรงกับวันที่ 13 14 15 เมษายน โดย วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" หรือ "วันสังขารล่อง" ถือเป็นวันสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "วันเนา" หรือ "วันเน่า" ซึ่งแปลว่า "อยู่" หมายถึงอีก 1 วันถัดจากวันมหาสงกรานต์ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้ามาอยู่ในราศีใหม่เรียบร้อยแล้ว วันที่ 15 เมษายน เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราช เรียกว่า "วันเถลิงศก" หรือ "วันพญาวัน" ซึ่งเป็นวันสำคัญวันแรกของปีใหม่นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ในสมัยก่อนไม่ได้กำหนดให้วันที่ 13-15 เป็นวันสงกรานต์ดังเช่นปัจจุบัน แต่ต้องใช้การคำนวณตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งอาจจะตรงกับวันที่ 14-16 เมษายนในบางปี แต่ปัจจุบันนี้ได้กำหนดในวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปีเป็นวันสงกรานต์ และวันหยุดราชการ เพื่อให้ง่ายต่อการกำหนดวันประกอบพิธี สำหรับวันสงกรานต์นั้น ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เป็นวันที่ลูกหลานจะกลับมาสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ และแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว จึงถือเอาวันสงกรานต์เป็น "วันครอบครัว" อีกหนึ่งวันด้วย เพราะเรามักจะเห็นภาพของคนในเมืองใหญ่ ๆ ต่างพากันเดินทางกลับบ้านไปหาครอบครัวในต่างจังหวัด ทำให้การจราจรติดขัดหนาแน่น และยังมีข่าวการเกิดอุบัติเหตุมากมายในเทศกาลนี้

ขณะที่ "น้ำ" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงความชุ่มชื่นในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันด้วยสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เรามักจะเห็นภาพวัยรุ่นลงมาเล่นน้ำ สาดน้ำใส่กัน ประกอบกับยังมีการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น "Water Festival" ทำให้คนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า "น้ำ" เป็นเพียงประเพณีเล่นน้ำที่มีเพียงแค่ความสนุก และดับร้อนในเดือนเมษายนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้คนรุ่นใหม่หลาย ๆ คน จึงไม่เข้าใจความหมาย และรากเหง้าของประเพณีสงกรานต์อย่างแท้จริง ซึ่งเราควรช่วยกันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่า เทศกาลสงกรานต์ เป็นประเพณีที่มีคุณค่าอย่างมาก เพราะเป็นวันที่แสดงถึงความรัก ความสามัคคี ความกตัญญู ฯลฯ มิใช่เพียงเพื่อความสนุกสนานแต่เพียงเท่านั้น